Malayan Pit Viper, Marble Pit Viper, Moonlight Pit Viper
Agkistrodon rhodostoma, Boie
อยู่ในวงศ์ Crotalidae เป็นงูพิษที่พบชุกชุมชนิดหนึ่งในประเทศไทย พบทุกภาค ในระยะแรกคิดว่าพบเฉพาะตามจังหวัดชายทะเลภาคใต้ แต่เมื่อสำรวจจริง ๆ แล้วยังพบในจังหวัดอื่น ๆ เช่น กาญจนบุรี ลพบุรี หนองคาย เชียงใหม่ งูกะปะออกไข่ครั้งละ 15-25 ฟอง แม่กกฟักไข่จนลูกออกเป็นตัว ลูกงูกะปะเมื่อยังเล็ก ๆ อยู่มีสีนํ้าตาลคลํ้า หางขาว ชาวใต้มักเรียกว่า “งูปะบุก” เมื่อโตขึ้นตัวมีสีค่อนข้างแดงเรียกว่า “งูปะไฟ” ทางภาคเหนือบางท้องถิ่นเรียก “งูตึง” อาจเป็นเพราะชอบขดตัวนอนตามใบตึงแห้งที่ร่วงหล่นอยู่ใต้ต้น ส่วนมากงูกะปะมีสีนํ้าตาลอ่อน มีลายเข้มเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายจรดที่สันหลัง ปากขาว มีเส้นขาวจากเกล็ดปลายปากบนพาดมาถึงที่สุดขากรรไกร ปลายหางสีคลํ้า
หัวใหญ่เป็นสามเหลี่ยม ปลายจมูกแหลมเชิดขึ้นเล็กน้อย คอเล็ก หลังขึ้นสัน ทำให้ตัวเป็นสามเหลี่ยม สามารถกางซี่โครงออกได้กว้าง ทำตัวแบนได้มาก หางเล็กสั้น งูกะปะที่ยังมีขนาดเล็กจะสามารถทำตัวแบนแล้วงอตัว ดีดตัวพุ่งไปข้างหน้าได้ประมาณ 2-3 ฟุต ชอบอาศัยขดนอนใต้ใบไม้แห้ง ใต้หิน และขอนไม้ ออกหากินเขียด คางคก และหนู ในเวลาพลบคํ่า โดยเฉพาะในวันที่มีนํ้าค้างแรงหรือมีฝนปรอย หากินตามพื้นดินไม่ขึ้นต้นไม้ งูกะปะมีขนาดยาวประมาณ 554 ม.ม. (หัว 49 ม.ม. ตัว 425 ม.ม. หาง 80 ม.ม.) เขี้ยวยาวโง้งแบบ Solenoglypha
พิษงูกะปะ พิษแห้งประกอบด้วยโปรตีนมากกว่าร้อยละ 90 นอกนั้นมีส่วน ประกอบอื่นคล้ายพิษงูแมวเซา เช่น มี neurotoxin, haemolysin, enzymes มีฤทธิ์ต่อระบบเลือด ทำให้เกิด thrombin อุดตันในหลอดเลือดมาก เกิด gangrene อัตราตายในผู้ป่วยถูกงูกะปะกัดตํ่า
อาการและอาการแสดง
ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยถูกงูกะปะกัด ไม่มีอาการ หรือมีเพียงเล็กน้อย และในกลุ่มที่แสดงอาการ ครึ่งหนึ่งมีอาการปานกลาง ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง แสดงอาการของพิษรุนแรง
อาการเฉพาะที่ มีอาการปวดรุนแรงมากน้อยแล้วแต่บุคคล เริ่มไม่กี่นาทีหลังถูกกัด บางรายปวดอยู่หลายวัน อาการชารอยแผลพบน้อยมาก
บวม เกิดเร็วภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังถูกกัด มักบวมมากกว่าที่พบในผู้ป่วยถูกงูเห่ากัด บวมทวีขึ้นเรื่อย ๆ จนเต็มที่ใน 24-48-72 ชั่วโมง บางทีบวมทั้งขาหรือแขนที่ถูกกัด บางรายรู้สึกคันด้วย
ที่รอยเขี้ยวมีเลือดออก บางรายซึมออกเรื่อย ๆ บางรายหลังถูกกัด เลือดออกแล้วหยุดไป พอเริ่มเดินก็ออกอีกเล็กน้อยในวันที่ 4 ถึง 7
หลังถูกกัด แผลและบริเวณใกล้เคียงหรือทั้งขาแขนข้างที่ถูกกัดจะสีคลํ้าขึ้น เป็นรอยจํ้า ห้อเลือด มีรอยพอง หรือตุ่มใสเกิดขึ้น ถ้ามีรอยพองขนาดใหญ่เกิดหลายแห่งหรือเกิดห่างจากที่กัดแสดงว่าได้รับพิษเข้าไปมาก ต่อมารอยพองแตกออกมี superficial necrosis.
ถ้าถูกกัดที่นิ้วมือนิ้วเท้ามักเกิด necrosis สีของผิวหนังบริเวณดังกล่าว เริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดง และเข้มขึ้นเปลี่ยนเป็นสีคลํ้าดำ ต่อมาแห้งลงกลายเป็นเนื้อตาย (gangrene) กระดุกกระดิกไม่ได้ แผลเนื้อตายค่อย ๆ เปื่อยเน่าหลุดออกไปเรื่อย ๆ ถ้าถูกกัดที่มือ เท้า ขา พบ necrosis น้อยถ้ามี necrosis กว่าแผลจะหายกินเวลานานเป็นเดือน
อาการทั่วไป มีอาการตกเลือดทั่ว ๆ ไป พบประมาณ 3 ชั่วโมงหลังถูกกัดมีจํ้าเลือดใต้ผิวหนัง และเกิดเรื่อยไปจนถึงวันที่ 3-4 จึงหยุด ในรายรุนแรงจะมีคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะมีเลือด เลือดออกตามไรฟัน สมอง หัวใจ เหงือก มีเลือดกำเดาออก บางคนมีอาการตกเลือดภายในทำให้ถึงแก่ความตายได้ ส่วนใหญ่ตายในวันที่ 2-6 หลังถูก กัด ผู้ป่วยถูกงูกะปะกัดตายช้ากว่าผู้ป่วยถูกงูเห่ากัด ถึงแก่กรรมด้วยเลือดออก ไม่หยุด หัวใจวาย เลือดออกในอวัยวะที่สำคัญต่อชีวิตและโรคแทรกซ้อนอย่างอื่น
ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการเลือดออกหรือมี gangrene ที่แผล นิ้วมือหรือนิ้วเท้าหลุดหรือมีไข้เนื่องจากรักษาเองแล้วเกิดการติดเชื้อซ้ำเติม หรือโรคแทรกซ้อนอย่างอื่น
หลังถูกกัดใหม่ ๆ บางรายตรวจพบความดันเลือดต่ำ บางรายช็อค เข้าใจว่าปวดมากจนช็อค
มีรายงาน ผู้ป่วยถูกงูกะปะ Agkistrodon hypnale กัดในต่างประเทศ มีปัสสาวะเป็นเลือด ผู้ป่วยถึงแก่กรรมด้วยไตวาย ตรวจไตมี Bilateral cortical necrosis แต่ในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยถูกงูกะปะกัดตาย ด้วยไตวาย
อาการแสดงเฉพาะที่ ที่รอยเขี้ยวมีรอยห้อเลือด บวมแดง กดเจ็บหรือเจ็บ ๆ คันๆ บริเวณรอยแผลและสูงขึ้นไปจากแผลในระยะหลังถ้า เป็น gangrene จะมีสีคลํ้าดำจับดูรู้สึกเย็น คลำชีพจรไม่ได้
อาการแสดงทั่วไป มี purpura, ecchymosis ตามร่างกาย มี sign ของ bleeding ตามที่ต่าง ๆ ความดันเลือดตํ่าได้ในระยะแรกที่ถูกกัด
ตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ระบบเลือด เม็ดเลือดขาวปกติหรือสูงเกิน 10,000/ม.ม.3 ฮีโมโกลบินลดลง
ไม่พบ evidence ของ haemolysis, urobilinogen ปกติ, reticulocyte, serum bilirubin ปกติ
มี clotting defect จะพบ prolonged bleeding time, platelet ลดลง พบได้ตั้งแต่ 30 นาทีหลังถูกกัด ถ้าไม่ได้รับเซรุ่มแก้พิษงูกะปะ เลือดจะไม่แข็งตัวนาน 1-15 วัน โดยทั่วไปเมื่อดีขึ้น clotting time จะกลับมาเป็นปกติก่อน อีก 1 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น clot retraction time จึงจะเป็นปกติ
ปัสสาวะ ในรายรุนแรงตรวจปัสสาวะพบ proteinuria มี rbc เป็น microscopic จนถึง macroscopic haematuria แต่หายได้เองใน 2-3 วัน ปริมาณปัสสาวะออกน้อย ในกรณีนี้จะพบ BUN สูงกว่าปกติ และกลับมาเป็นปกติเมื่อปัสสาวะออกดี
ไข้ บางรายมีไข้ได้หลายวัน